นิสิตในชั้นปีที่ 4 จำนวน 33 คน จึงร่วมกันจัดทำบริษัทจำลอง และผลิตสินค้าเครื่องประดับในแบรนด์ชื่อ SIAM THARAWAN (สยามธาราวัลก์) ศิลปะเครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจจากความสวยงามตามกาลเวลาของเปลือกไม้ผสมผสานกับความพลิ้วไหวของสายน้ำที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ความงามเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านการสรรค์สร้างลวดลายด้วยเทคนิคโมกุเม่กาเน่ คำว่า "โมกุเม่" หมายถึงลายของเนื้อไม้ ส่วน "กาเน่" หมายถึงโลหะและนับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่ใช้เทคนิคโมกุเม่กาเน่ ซึ่งเป็นกรรมวิธีการตีดาบของซามูไรในสมัยโบราณของประเทศญี่ปุ่น

น.ส.พิมพรรณ วรนัฐสุนทร หรือ "ใหม่" นิสิตชั้นปีที่ 4 ประธานบริษัท สยามธาราวัลก์ กล่าวว่า พวกเราเรียนวิชาการบริหารการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ (Production management) ซึ่งใช้ความรู้จากชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4 ต้องทำความรู้จักวัสดุในการผลิต การออกแบบ การผลิต การขาย และการทำตลาด

มาปีนี้เราจึงสร้างสรรค์ผลงานนาฬิกา และ Cuff Ling ขึ้นมา โดยใช้ฐานความรู้จากงานวิจัยของรุ่นพี่ที่ศึกษาเทคนิคโมกุเม่กาเน่ มาศึกษาต่อยอดเป็นสินค้า ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ "สยามธาราวัลก์" จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า Cuff Ling และนาฬิกา ที่งานบางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 42 ขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย. ที่บูธ 37?38 A อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ถือเป็นการเปิดตัวสินค้าครั้งแรก



"การเกิดขึ้นของสินค้าในชื่อสยามธาราวัลก์ เพราะเราต้องการให้ตลาดเครื่องประดับเกิดสินค้าตัวใหม่ และอยากเห็นผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่หลากหลาย การผลิตเครื่องประดับในสมัยนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใช้ฐานความคิดความรู้จากงานวิจัยเข้ามาพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงาน"

นายกิตติพงษ์ อยู่พัฒนะวงศ์ หรือ "นกฮูก" นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป สาขาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ รับผิดชอบตำแหน่งหัวหน้าคิวซี ดูแลเรื่องคุณภาพการผลิต บอกว่าเราใช้เทคนิคโมกุเม่กาเน่ เป็นวิธีการผสมโลหะเพื่อนำมาตีเป็นดาบในสมัยโบราณเข้ามาใช้ในการทำหน้าปัดนาฬิกา ความรู้ที่ต้องใช้คือการผสมโลหะเงินกับทองแดงเข้าด้วยกัน จากนั้นใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รีดและอบวัสดุให้เป็นเนื้อเดียวกัน รีดให้หน้าปัดมีความบาง 0.04 มิลลิเมตร การผสมโลหะแต่ละชั้นๆ แล้วรีดนั้นจะทำให้เราได้ลวดลาย ซึ่งสยามธาราวัลก์เน้นความเป็นไทย ลวดลายจึงเสมือนสายน้ำและลายเปลือกไม้

"พวกเราภูมิใจมากที่เราสร้างแบรนด์สยามธาราวัลก์ขึ้นมาได้ ในอนาคตน้องๆ ที่ได้เรียนวิชาโพรดักชั่น เมเนจเมนต์ จะมีโอกาสสร้างผลงานในแบรนด์สยามธาราวัลก์ เราหวังอยากให้คนไทยทุกคนรู้จักแบรนด์นี้และรู้ว่าสยามธาราวัลก์เป็นแบรนด์เครื่องประดับที่นิสิต มศว ผลิตขึ้นมา"



นายทัศนชัย ด้วงเทียน หรือ "ทัด" รับหน้าที่หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ความภาคภูมิใจที่ได้จากการทำงานครั้งนี้คือทำให้รู้ถึงขั้นตอนการผลิตเครื่องประดับตลอดถึงวิธีการสร้างแบรนด์ การตั้งชื่อ เทคนิควิธีการทำตลาด สารพัดความรู้ สิ่งสำคัญคือได้ความอดทนอย่างมาก ความอดทนนำเราไปพบกับความสำเร็จได้ไม่ยาก

"ผมอยากชวนคนที่สนใจเครื่องประดับได้เข้าชมงานบางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ ทุกปีสาขาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มีโอกาสไปแสดงผลงาน แต่ในปีนี้เราผลิตเพื่อจำหน่ายและมีแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยเราผลิตสินค้าต้นแบบทั้งสิ้น 8 ชิ้น เป็นนาฬิกา 3 ชิ้น และ Cuff Ling อีก 5 คู่ หลายคนอาจคิดว่าทำไมเราไม่ผลิตเยอะๆ อยากบอกว่าเราทำเพื่อเป็นต้นแบบ ในงานจะมีคนสนใจเข้ามาจอง จากนั้นจะผลิตต่อ แต่ในวันงานเราอยากพบกับผู้ซื้อ พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน คนส่วนใหญ่ถ้าเขาสนใจเขาจะสั่งซื้ออยู่แล้ว ส่วนสินค้าทั้ง 8 ชิ้น เราจะขายทั้งหมด เมื่อสินค้ามีจำกัดจึงอยากฝากถึงผู้สนใจได้เข้ามาชมสินค้าในนามสยามธาราวัลก์ ถ้าชอบและถูกใจจึงค่อยตัดสินใจซื้อ รับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะสินค้าของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สวมใส่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย"

ด้านน.ส.อรชุมา กาฬสินธุ์มงคล หรือ "กิ๊ฟ" หัวหน้าวิจัยการตลาด บอกว่าการผลิตสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยเฉพาะเครื่องประดับนั้นไม่ใช่นึกจะผลิตก็ผลิตโดยไม่ใช้องค์ความรู้ใดๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะอย่าลืมว่าการตลาดที่มีการแข่งขันกันนั้นเราต้องแข่งขันอยู่ภาคใต้องค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลายิ่งการผลิตเครื่องประดับเราต้องรู้ถึงคุณลักษณะของวัสดุ ซึ่งวัสดุที่นำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับแต่ละชิ้นมีลักษณะไม่เหมือนกัน ข้อจำกัดต่างๆ ในการนำมาผลิต ตลอดถึงการออกแบบเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ต้องรู้จักประยุกต์ ดัดแปลงให้ตรงใจผู้ซื้อก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

ปิดท้ายที่ น.ส.ธนาพร ไทรธนาพร หรือ "อุ้ม" หัวหน้าส่งเสริมการขาย บอกว่าการทำงานในนามสยามธาราวัลก์ทำให้รู้สึกสนุก ตื่นเต้นและท้าทายมาก ตอนนี้เราต้องประชุมกันเพื่อให้สินค้าเราเป็นที่รู้จัก โดยทำงานร่วมกันกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ เนื่องจากสยามธาราวัลก์เป็นสินค้าเครื่องประดับชิ้นใหม่ เราจึงต้องเปิดตัวเองสู่สังคมให้มาก เชื่อว่าสินค้าที่มีลักษณะโดดเด่น มีเอกลักษณ์ในตัวเอง จะเข้าไปครองใจผู้ซื้อได้ ทุกคนตั้งใจไว้ว่าสยามธาราวัลก์จะเป็นตัวแทนเครื่องประดับที่คนไทยและคนต่างชาติรู้จัก เป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์ภายใต้แนวคิด "กาลเวลาและสายน้ำ" เมื่อนึกถึงสยามธาราวัลก์แล้ว อยากให้ทุกคนนึกถึง มศว ด้วย