ไพลิน อัญมณีแห่งคุณธรรม




คำเรียกอัญมณีชนิดนี้ แต่เดิมนั้นคนไทยเรียกว่า นิลกาฬ ดังที่ปรากฏในคำกลอนนพรัตน์ที่ว่า “ สีหมอกเมฆนิลกาฬ ” แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกกันว่า “ ไพลิน ” เนื่องจาก เมื่อประมาณ 30 – 40 ปีก่อน นิลกาฬสีน้ำเงินเข้มสดที่มาจากจังหวัดไพลิน ประเทศเขมรเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เมื่อผู้ขายนำมาขายจึงต้องระบุว่ามาจากจังหวัดไพลิน จนคำว่า “ ไพลิน ” กลายเป็นคำเรียกแทน “ นิลกาฬ ” ไปโดยปริยาย ส่วนคำว่า Sapphire นั้น มาจากคำว่า Sapphiros ในภาษากรีก แปลว่า สีน้ำเงิน

อัญมณีแห่งความจริงใจ


คนในสมัยโบราณมีความเชื่อเกี่ยวกับอัญมณีชนิดนี้หลากหลาย เช่น ชาวยิวเชื่อว่าไพลินเป็นเสมือนสารลับจากพระเจ้า ชาวเปอร์เซียคิดว่าโลกของเราวางอยู่เหนือไพลินขนาดใญ่ ส่วนท้องฟ้า คือ ภาพสะท้อนสีสันอันงดงามของไพลิน


พลินเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความซื่อสัตย์ ผู้หญิงจำนวนมากจึงเลือกใช้ไพลินมาทำเป็นแหวนหมั้น นอกจากนี้ไพลินยังเป็นอัญมณีแห่งคุณธรรมอีกด้วย ช่วยทำให้ผู้ที่สวมใส่มีจิตใจตั้งมั่นอยู่ในความดี ช่วยควบคุมอารมณ์ เพิ่มความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อตัวเอง ช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิต และเช่นเดียวกับอัญมณีทรงคุณค่าชนิดอื่น ๆ ไพลินก็มีอำนาจช่วยปกป้องให้พ้นจากภยันตรายต่าง ๆ ด้วย ทางด้านการบำบัดรักษา ไพลินช่วยบรรเทาโรคหรืออาการทางสมอง โรคที่เกี่ยวกับประสาทและไขสันหลัง ผิวหนังอักเสบได้

ตำนานกำเนิดไพลิน


ในคัมภีร์พระเวทบันทึกไว้ว่า ไพลิน คือ ดวงตาของอสูรวลาซึ่งถูกเหล่าเทวดาหลอกมาสังหารแล้วแยกชิ้นส่วนร่างกายของอสูรตนนี้ออกอันเนื่องมาจากอสูรวลามีอำนาจเหนือพระอินทร์ คอยกดขี่ข่มเหงเทวดาอื่น ๆ ชิ้นส่วนร่างของมารวลาที่ตกลงมาบนโลกมนุษย์ได้กลายเป็นอัญมณีชนิดต่าง ๆ ส่วนดวงตานั้นได้ตกลงมายังเกาะลังกา

แหล่งที่พบไพลิน


บริเวณที่ไพลินร่วงหล่นลงมาได้กลายมาเป็นแหล่งไพลินแหล่งใหญ่ในปัจจุบัน คือ ประเทศศรีลังกา และบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า เขมร


ไพลินที่ดีที่สุดพบที่แคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ไพลินของแคว้นแคชเมียร์ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค . ศ . 1881 ไพลินของแคว้นนี้มีสีน้ำเงินเข้ม แลดูนุ่มนวล ไม่อมเขียวหรืออมดำ เรียกกันว่า สีน้ำเงินกำมะหยี่ (Velvety Blue) ไพลินที่ขึ้นชื่ออีกแหล่งหนึ่ง คือ ไพลินจากซีลอน หรือประเทศศรีลังกาซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับไพลินจากแคว้นแคชเมียร์


สำหรับในประเทศไทย พบไพลินมากที่จังหวัดจันทบุรีและกาญจนบุรี ไพลินของไทยส่วนใหญ่มีสีน้ำเงินเข้ม น้ำเงินอมดำ อมเขียว หรืออมฟ้า นอกจากนี้ยังพบไพลินที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์บ้างประปราย

ขอบคุณข้อมูลจาก SGS สถาบันอัญมณีวิทยา (ประเทศไทย)